ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: โปลิโอ (Poliomyelitis)  (อ่าน 12 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: โปลิโอ (Poliomyelitis)
« เมื่อ: 07 ตุลาคม 2024, 12:58:56 pm »
หมอออนไลน์: โปลิโอ (Poliomyelitis)

โปลิโอ (Poliomyelitis) เป็นโรคติดต่อที่สามารถทำให้เกิดอาการร้ายแรง สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งอาจไปทำลายระบบประสาทจนส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีภาวะอัมพาต หายใจลำบาก หรือถึงแก่ความตายได้ โดยส่วนใหญ่เชื้อโปลิโอจะแพร่กระจายจากคนไปสู่คนผ่านการรับเชื้อที่ถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระเข้าสู่ทางปาก

ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโรคโปลิโอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่เด็กทุกคนยังคงต้องได้รับวัคซีนป้องกันโปลิโอ เนื่องจากโปลิโออาจทำให้เป็นอัมพาต หรือร้ายแรงถึงชีวิต และปัจจุบันประเทศไทยยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคจากต่างประเทศ ทั้งจากเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ธรรมชาติ และเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์

สาเหตุของโรคโปลิโอ

โรคโปลิโอเกิดจากไวรัสโปลิโอเชื้อสายพันธุ์ธรรมชาติ (Wild-type Poliovirus: WPV) มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1, 2 และ 3 ที่จะอาศัยอยู่แต่ภายในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น โดยไวรัสชนิดนี้ติดออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโปลิโอ การสัมผัสกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรง หรือเมื่อไอ จาม และแพร่กระจายผ่านการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนมาในอาหารหรือน้ำที่รับประทานเข้าไป

ไวรัสโปลิโอจะเดินทางเข้าไปภายในปาก ผ่านลำคอ ลำไส้ แล้วจึงเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น หรือในบางกรณียังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังระบบประสาทในที่สุด โดยสามารถแพร่กระจายจากผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนเริ่มแสดงอาการไปจนถึงหลายสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏเลยก็ยังสามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อโปลิโอได้

นอกจากนี้ มีเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ (VDPVs) ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้เหมือนสายพันธุ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโปลิโอ ซึ่งยังพบในหลายประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น เมียนมา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ การให้วัคซีนจึงเป็นวิธีช่วยป้องกันโรคโปลิโอที่มีประสิทธิภาพ แม้ในประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคนี้แล้วก็ตาม

โปลิโอพบบ่อยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี แต่ก็อาจพบได้ในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโปลิโอ และมีภาวะต่อไปนี้

    หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะมีความไวต่อการได้รับเชื้อโปลิโอ
    เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโปลิโอหรือเพิ่งเกิดการระบาดของโรคเมื่อไม่นานมานี้
    เป็นผู้ดูแลหรืออาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อโรคโปลิโอ
    ทำงานในห้องปฏิบัติการที่สัมผัสใกล้ชิดกับเชื้อไวรัส
    ผู้ที่ผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกไป
    มีความเครียดมากเกิน หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงหนักหลังมีการสัมผัสกับไวรัส ซึ่งจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง

อาการโรคโปลิโอ

ผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอประมาณ 70–95% มักไม่มีอาการใด ๆ แต่ผู้ป่วยที่มีอาการสามารถแบ่งกลุ่มตามอาการที่ปรากฏได้ดังนี้
1. กลุ่มไม่แสดงอาการหรือมีอาการคล้ายโรคหวัด (Abortive Polio)

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะแสดงอาการเล็กน้อยคล้ายอาการหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 3–7 วัน และอาจมีอาการอยู่เพียง 2–3 วัน โดยร่างกายสามารถต่อสู้และกำจัดเชื้อออกไป เช่น

    มีไข้
    ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
    เจ็บคอ
    ปวดท้อง เบื่ออาหาร
    คลื่นไส้ อาเจียน

2. กลุ่มอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Nonparalytic Polio)

ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายโรคหวัด ร่วมกับอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส โดยอาจมีอาการประมาณ 3–21 วัน โดยนอกจากมีอาการคล้ายไข้หวัด อาจแสดงอาการต่อไปนี้

    คอแข็ง
    รู้สึกชาหรือปวดแปลบเหมือนมีเข็มทิ่มที่แขนและขา
    กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
    ไวต่อแสง

3. กลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Paralytic Polio)

การติดเชื้อโปลิโอชนิดนี้พบได้น้อย โดยสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ เช่น โปลิโอไขสันหลัง (Spinal Polio) โปลิโอก้านสมองส่วนท้าย (Bulbar Polio) หรือชนิดที่เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างโปลิโอไขสันหลังและก้านสมองส่วนท้าย (Bulbospinal Polio)

อาการเบื้องต้นของโรคโปลิโอในกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักปรากฏในลักษณะคล้ายโปลิโอกลุ่มเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงเริ่มแสดงอาการรุนแรงกว่า ดังนี้

    สูญเสียการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ
    กล้ามเนื้อหดเกร็งหรือเจ็บปวดอย่างรุนแรง
    กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงแบบปวกเปียก บางครั้งมีอาการแย่ลงเพียงข้างใดข้างหนึ่ง
    ภาวะอัมพาตเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวร
    บางคนอาจมีปัญหาด้านการหายใจ การพูด และการกลืนอาหาร

ทั้งนี้ อาการของโรคในผู้ป่วยกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักไม่พัฒนาเป็นภาวะอัมพาตอย่างถาวร แต่กรณีที่ไวรัสจะเข้าจู่โจมกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ช่วยในการหายใจ อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็กหรือผู้ที่เป็นโปลิโอก้านสมองส่วนท้าย
4. อาการหลังเกิดโรคโปลิโอ (Post-polio Syndrome)

อาการกลุ่มนี้เป็นอาการที่อาจกลับมาเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยติดเชื้อโปลิโอไปแล้วหลายสิบปี บางคนอาจเพิ่งมีอาการนี้หลังจากเวลาผ่านไปนานถึง 30–40 ปี โดยอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น

    กล้ามเนื้อหรือข้อต่ออ่อนแรงลงเรื่อย ๆ
    กล้ามเนื้อหดตัวหรือลีบลง
    อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าหลังการทำกิจกรรมเล็กน้อย
    มีปัญหาในการกลืนหรือหายใจ
    ความผิดปกติของการหายใจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
    อดทนต่ออากาศหนาวได้น้อยลง


อาการโรคโปลิโอที่ควรไปพบแพทย์

เนื่องจากอาการโปลิโออาจคล้ายไข้หวัดใหญ่ จึงทำให้สังเกตได้ยาก หากพบว่าอาการไข้หวัดไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการอื่น ๆ  ที่บ่งชี้โรคโปลิโอร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคโปลิโอมาก่อน หากกลับมามีอาการโปลิโอซ้ำ หรือมีอาการผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรไปพบแพทย์เช่นกัน


การวินิจฉัยโรคโปลิโอ

แพทย์จะวินิจฉัยโรคโปลิโอด้วยการสอบถามอาการ และตรวจร่างกายเบื้องต้นว่ามีอาการคอแข็งหรือไม่ มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนหรือหายใจหรือไม่ ตรวจดูปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย และภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ

แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจหาเชื้อไวรัสโปลิโอด้วยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากลำคอ อุจจาระ หรือน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยตัวอย่างสารคัดหลั่งในลำคอจะตรวจหาเชื้อเจอเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกที่มีอาการเท่านั้น ส่วนการเจาะน้ำไขสันหลังจะช่วยตัดสาเหตุของโรคระบบประสาทอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป


การรักษาโรคโปลิโอ

ปัจจุบันโรคโปลิโอยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามอาการ เร่งการฟื้นตัวและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น

อาการหลังการรักษาโรคโปลิโอจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่ร่างกายได้รับจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยอาจมีผลการรักษาที่ดี แต่กรณีที่เกิดปัญหาระยะยาวจากการติดเชื้อโปลิโอ ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาและการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีรักษาโรคโปลิโอ มีดังนี้

    ให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อน
    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    ประคบร้อน และใช้ยา เช่น ไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวด
    ออกกำลังกายเบา ๆ และทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อสูญเสียการทำงานและผิดรูปร่างไป และแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว
    ใช้อุปกรณ์ เช่น เฝือก หรืออุปกรณ์ช่วยพยุงแขนขาที่อ่อนแรง
    บางรายที่มีปัญหาด้านการหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโปลิโอ

โรคโปลิโออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

    ภาวะอัมพาตถาวร
    อาการเจ็บปวดเรื้อรัง
    กล้ามเนื้อหดสั้น (Muscle Shortening) ซึ่งอาจทำให้ข้อต่อและกระดูกผิดรูป
    เกิดกลุ่มอาการหลังเกิดโปลิโอ


การป้องกันโปลิโอแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

การฉีดวัคซีน

โรคโปลิโอป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีทั้งชนิดหยอด (Oral Polio Vaccine: OPV) และชนิดฉีด (Inactivated Poliomyelitis Vaccine (IPV) ซึ่งเดิมประเทศไทยใช้วัคซีนแบบหยอดชนิด 3 สายพันธ์ุ (tOPV)

แต่ในปี พ.ศ. 2559 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยกเลิกใช้วัคซีนโปลิโอแบบหยอดชนิด 3 สายพันธ์ุ เนื่องจากในวัคซีนนี้มีไวรัสโปลิโอชนิดหนึ่งที่มักพบว่ามีการกลายพันธุ์ จึงเปลี่ยนมาใช้วัคซีนชนิดฉีด (IPV) จำนวน 1 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน ร่วมกับรับวัคซีนหยอดชนิด 2 สายพันธ์ุ (bOPV) จำนวน 5 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปีตามลำดับ

อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่เชื้อโปลิโอจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศได้ ในปี พ.ศ. 2566 กระทรวงสาธารณสุขจึงเริ่มนำร่องการให้วัคซีนชนิดฉีด IPV เป็น 2 เข็ม เพื่อรองรับการระบาดของโปลิโอจากสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ โดยแนะนำให้เด็กฉีดวัคซีนสูตร 2 IPV + 3 OPV ดังนี้

    ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) จำนวน 2 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และ 4 เดือน
    ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) จำนวน 3 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี

นอกจากนี้ ควรรับวัคซีนกระตุ้นเมื่อต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่กระจายของโรค รวมถึงในกรณีที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ


การรักษาสุขอนามัย
นอกจากการฉีดวัคซีน การป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยรักษาสุขอนามัย เช่น

    ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกฮอล์ล้างมือก่อนรับประทานอาหารเป็นประจำ และล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
    รับประทานแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ถูกสุขลักษณะ และดื่มน้ำสะอาด
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่มีอาการไข้หวัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ


 

ลงประกาศฟรี ติดอันดับ Google โฆษณาฟรี ประกาศฟรี ขายฟรี ลงประกาศขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด ขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุตสาหกรรม อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สถานที่ท่องเที่ยว ลงโฆษณาฟรี google