ทุกวันนี้หลายคนต่างต้องเจอกับสภาวะการทำงานที่เคร่งเครียด ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงมลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง ทำให้การรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเดิม
และถึงจะรู้ว่าการทานอาหารที่ดีและอุดมไปด้วยสารอาหารมีประโยชน์จะเป็นเรื่องจำเป็นในยุคนี้ แต่หลายคนกลับต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและใส่ใจกับเรื่องโภชนาการน้อยลง ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นน้อยลงไปด้วย จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันจะมีการคิดค้นอาหารเสริมขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยให้โภชนาการแต่ละวันดีขึ้น วันนี้เราเลยจะพาไปรู้จักสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพ 5 ชนิด ได้แก่ โปรตีน โพรไบโอติก กรดไขมันโอเมก้า 3 วิตามินดี และวิตามินบีรวม ว่าจะมีบทบาทสำคัญในร่างกายอย่างไร รวมถึงแนะนำปริมาณและแหล่งหาทานง่ายๆ ใกล้ตัวสำหรับคนไม่มีเวลาอีกด้วย
ความสำคัญของการทานอาหารให้สมดุล
โภชนาการที่สมดุลเป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์เรา ซึ่งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ มีบทบาทสำคัญในการทำงานต่างๆ ของร่างกาย เช่น การให้พลังงาน การซ่อมแซม และการเจริญเติบโต การเลือกทานอาหารให้หลากหลายและอยู่ในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายสามารถทำงาน ทำกิจกรรม และใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังป้องกันและลดความเสี่ยงขาดสารอาหาร ช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ อีกด้วย
แต่ในปัจจุบัน ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตที่วุ่นวาย การเรียน การทำงาน ทุนทรัพย์ อาหารที่ชอบ หรือข้อจำกัดเรื่องการทานอาหารที่แตกต่างกันไป ก็อาจทำให้บางคนไม่สามารถทานอาหารที่โภชนาการครอบคลุมได้ จนทำให้ได้รับสารอาหารในแต่ละวันไม่ครบถ้วนมากพอ ทำให้อาหารเสริมเพื่อสุขภาพเข้ามามีบทบาทที่ช่วยเติมเต็มสำหรับคนที่ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้เพียงพอในแต่ละมื้อ และทำให้เข้าถึงสารอาหารต่างๆ ได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
บทบาทของอาหารเสริมที่สำคัญต่อร่างกาย
ถึงแม้ว่าอาหารเสริมเพื่อสุขภาพจะเป็นตัวช่วยที่ดี รับประทานง่ายและมีรูปแบบต่างๆ ที่สะดวก เช่น ยาเม็ด แคปซูล ผง หรือของเหลว ที่มีวิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน สมุนไพร หรือสารอาหารอื่นๆ ที่บางคนอาจได้รับไม่เพียงพอในมื้ออาหารแต่ละวัน แต่ก็ไม่ควรทานแทนมื้อหลัก 5 หมู่ และควรจัดลำดับให้เป็นส่วนเสริมเพิ่มเติมเพื่อสุขภาพจะดีที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีอีกหลายข้อที่คนไม่เคยรู้
มาดูกันว่าบทบาทของอาหารเสริมเพื่อสุขภาพจะมีประโยชน์กับใครและมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
1. คนที่มีข้อจำกัดในการเลือกทานอาหาร
บางคนไม่สามารถรับสารอาหารได้ครบถ้วน เพราะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการเลือกทานอาหาร อย่างเช่นผู้ที่แพ้อาหาร หรือผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ที่เลือกทานเฉพาะผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์จากพืชเท่านั้น โดยไม่ทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ทุกชนิด ทำให้ต้องทานอาหารเสริมเพื่อให้ได้รับสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายไม่ได้รับในปริมาณที่เพียงพอ
2. โรคหรือการใช้ยา
โรคหรือการใช้ยาบางตัวอาจมีผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่ทำให้ร่างกายกักเก็บสารอาหารบางชนิดและลดประสิทธิภาพในการดูดซึมได้ ซึ่งการทานอาหารเสริมก็จะมาช่วยเสริมให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ขาดไปได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
3. อายุมากขึ้น
ความต้องการทางโภชนาการอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยหรืออายุที่มากขึ้น ร่างกายดูดซึมสารอาหารบางชนิดได้น้อยลง ทำให้ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าผู้สูงอายุมักต้องทานอาหารเสริมควบคู่ไปกับการทานอาหารมื้อหลักเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นในปริมาณที่เพียงพอ
4. ภาวะขาดสารอาหาร
ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหารหรือเป็นโรคขาดสารอาหาร มักต้องทานอาหารอาหารเสริมเพื่อฟื้นฟูและรักษาให้ระดับสารอาหารอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งบางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญหน้ากับภาวะนี้ ทางที่ดีควรเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยที่รุนแรง
5. ไลฟ์สไตล์
การใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นความเครียด การออกกำลังกายอย่างหนัก การตั้งครรภ์ ฯลฯ กิจกรรมหรือช่วงเวลาเหล่านี้ ร่างกายมักต้องการสารอาหารเฉพาะเพื่อนำไปบำรุง ซ่อมแซม หรือเสริมภูมิกันเพื่อให้ร่างกายยังคงมีสุขภาพดี การทานอาหารเสริมเพื่อสุขภาพให้ได้สารอาหารวิตามินครบถ้วนจึงจำเป็นและเหมาะสมอย่างมาก
5 อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่จำเป็นสำหรับร่างกาย
โปรตีน (Protein)
โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่สำคัญ ซึ่งมีบทบาทในการเสริมสร้างการทำงาน และควบคุมเนื้อเยื่อรวมถึงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยหน้าที่สำคัญของโปรตีน มีดังนี้
การเจริญเติบโตและการซ่อมแซม โปรตีนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ ผิวหนัง และเส้นผม นอกจากนี้ โปรตีนยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างเซลล์ต่างๆ เช่น เอนไซม์และฮอร์โมนอีกด้วย
สร้างเซลส์และสารภูมิคุ้มกัน การทานโปรตีนจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย โปรตีนในรูปของแอนติบอดีจะช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อและอาการเจ็บป่วย ช่วยต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ
ให้พลังงาน แม้ว่าโปรตีนจะไม่ใช่แหล่งพลังงานหลักของร่างกาย แต่ก็สามารถนำมาใช้ในการผลิตพลังงานได้ ในกรณีที่ไม่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันเพียงพอ ยิ่งหากรับประทานโปรตีนจากพืชก็จะยิ่งได้กากใยไฟเบอร์ที่จะช่วยให้อิ่มนาน ไม่หิวจุกจิกระหว่างวันอีกด้วย
โพรไบโอติก (Probiotics)
โพรไบโอติก คือจุลินทรีย์ที่มีชีวิต โดยเฉพาะแบคทีเรียและยีสต์ ซึ่งให้ประโยชน์มากมายต่อสุขภาพหากบริโภคในปริมาณที่เพียงพอ โพรไบโอติกมักถูกเรียกว่าแบคทีเรีย "ดี" หรือ "เป็นมิตร" เนื่องจากช่วยรักษาสมดุลไมโครไบโอม (microbiome) หรือจุลินทรีย์ธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในร่างกายโดยเฉพาะลำไส้ โดยช่วยในการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ โพรไบโอติกมีประโยชน์ดังนี้
รักษาสมดุลการย่อยอาหารและสุขภาพของลำไส้ โพรไบโอติกช่วยรักษาสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการย่อยอาหาร การดูดซึมสารอาหาร และการกำจัดของเสีย และบรรเทาปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ท้องผูก และอาการลำไส้แปรปรวน
ช่วยระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันอาศัยอยู่ในลำไส้ และไมโครไบโอมในลำไส้ที่สมดุลนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของภูมิคุ้มกัน โพรไบโอติกช่วยปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ป้องกันเชื้อโรคที่เป็นอันตราย และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
สุขภาพจิต การทำงานของลำไส้เชื่อมโยงกับสมองผ่านเส้นประสาทเวกัส ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไมโครไบโอมในลำไส้มีผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารและสุขภาพจิตด้วย หากลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงจากการทานอาหาร ความเครียด การใช้ยา ฯลฯ ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในเชิงลบได้ การทานโพรไบโอติกจะช่วยเพิ่มแบคทีเรียดีให้กับลำไส้ ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจโดยรวมได้
กรดไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3 Fatty Acids)
กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นกลุ่มของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่จำเป็น กรดไขมันโอเมก้า 3 มีอยู่สามประเภทหลัก ได้แก่ กรดอัลฟาไลโนเลนิก (ALA) กรดไอโคซาเพนตะอีโนอิก (EPA) และกรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (DHA) ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์กรดไขมันเหล่านี้ได้ ดังนั้นต้องได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริม หน้าที่หลักของกรดไขมันโอเมก้า 3 ในร่างกาย ได้แก่
บำรุงหัวใจและหลอดเลือด กรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบ ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดจึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
การทำงานและพัฒนาการของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง DHA เป็นองค์ประกอบสำคัญของสมองและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ความจำ และการทำงานของสมอง การได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์และพาร์กินสัน
ต้านการอักเสบ กรดไขมันโอเมก้า 3 มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับสภาวะการอักเสบ เช่น ข้ออักเสบ และลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรัง
วิตามินดี (Vitamin D)
วิตามินดี เป็นสารอาหารที่ละลายในไขมัน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพของเราในด้านต่างๆ หน้าที่สำคัญของวิตามินดีในร่างกายมีดังต่อไปนี้
บำรุงกระดูก วิตามินดีทำงานร่วมกับแคลเซียมเพื่อควบคุมการสร้างแร่ธาตุในกระดูก ช่วยรักษากระดูกให้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ ลดความเสี่ยงของความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุนและกระดูกหัก
การสนับสนุนระบบภูมิคุ้มกัน วิตามินดีมีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยการปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดและภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจง ช่วยป้องกันการติดเชื้อและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยรักษาสมดุลระหว่างกระบวนการอักเสบและต้านการอักเสบ
ช่วยลดปัญหาสุขภาพจิต หากร่างกายมีระดับวิตามินดีที่เพียงพอจะช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์และจิตใจ โดยช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนินที่สามารถลดความเครียด ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
วิตามินบีรวม (Vitamin B complex)
วิตามินบีคอมเพล็กซ์ หมายถึง กลุ่มของวิตามินแปดชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย ได้แก่ วิตามิน B1 (ไทอามีน), B2 (ไรโบฟลาวิน), B3 (ไนอาซิน), B5 (กรดแพนโทธีนิก), B6 (ไพริดอกซิ), B7 (ไบโอติน), B9 (โฟเลตหรือกรดโฟลิก) และ B12 (โคบาลามิน) โดยวิตามินบีแต่ละชนิดมีส่วนช่วยในการทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้
มีส่วนช่วยในการผลิตพลังงาน วิตามินบีช่วยในการเปลี่ยนอาหารที่เราบริโภคเข้าไปให้กลายเป็นพลังงาน โดยช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน
บำรุงรักษาการทำงานของระบบประสาท วิตามินบีมีความสำคัญต่อการรักษาระบบประสาทให้แข็งแรง สนับสนุนการสร้างสารสื่อประสาท และปกป้องเซลล์ประสาท
ผลิตเซลส์เม็ดเลือดแดง วิตามินบีโดยเฉพาะอย่างยิ่งโฟเลตและวิตามินบี 12 มีความสำคัญต่อการผลิตและบำรุงรักษาเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งมีหน้าที่นำพาออกซิเจนไปทั่วร่างกาย
การควบคุมฮอร์โมน วิตามินบี เช่น กรดแพนโทเทนิกและไบโอติน มีบทบาทในการสังเคราะห์ฮอร์โมนและการควบคุม
การทำงานของสมอง วิตามินบีเชื่อมโยงกับการทำงานของสมอง ความจำ และอารมณ์ ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียดเรื้อรังได้
แน่นอนว่านอกจากสารอาหาร 5 ชนิดที่ได้พูดถึงไป ก็ยังมีสารอาหารอีกมากมายที่จำเป็นต่อสุขภาพและร่างกายไม่แพ้กัน ใครที่รู้สึกว่าช่วงนี้ร่างกายอ่อนเพลีย ป่วยง่าย หรือรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ในแน่ละวันที่เร่งรีบและบีบคั้น ทำให้มีเวลาในการดูแลตัวเองน้อยลง ลองหาตัวช่วยเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่สามารถทานควบคู่ไปกับมื้ออาหารหลักได้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ครบถ้วน และมีสุขภาพดีได้อย่างเหมาะสม
กระชายมหิดล: กินอาหารเสริมดีไหม? เจาะลึก 5 อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่จำเป็นต่อร่างกาย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/products/