ถึงเวลาปาร์ตี้ ชนแก้วววว!! ช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลายความเครียด ความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน แต่หลังจากช่วงเวลาแห่งความสุขหมดไป ตอนเช้าอีกวันที่ต้องตื่นไปทำธุระหรือแบกร่างกายไปทำงานก็อาจจะเป็นเรื่องยากของใครหลาย ๆ คน เพราะว่าจะมีอาการเมาค้าง รู้สึกปวดหัว มึนหัว มีอาการคล้ายจะอาเจียนตลอดเวลา วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับวิธีแก้แฮงค์และวิธีการรับมือมาฝากกัน
อาการเมาค้างคืออะไร
อาการเมาค้างเป็นอาการไม่พึงประสงค์ทางร่างกาย ที่เกิดขึ้นหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นในตอนเช้าหลังจากดื่มหนักมาทั้งคืน ผู้ที่มีอาการเมาค้างจะมีอาการเหนื่อยล้า กระหายน้ำ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดหัว วิตกกังวล หงุดหงิด เหงื่อออก และความดันสูง ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณและประเภทของแอลกอฮอล์ที่ดื่ม ปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวัน รวมถึงสุขภาพร่างกายของแต่ละคน
อาการเมาค้างเกิดจากอะไร
อาการเมาค้างเกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมา อาทิเช่น
· อาการกระหายน้ำ เนื่องจากแอลกอฮอล์เปรียบเสมือนเป็นยาขับปัสสาวะ ส่งผลให้มีการผลิตปัสสาวะเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ดื่มต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จนนำไปสู่ภาวะขาดน้ำที่ทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ ปวดหัว เวียนหัว และมีอาการเหนื่อยง่าย
· รู้สึกระคายเคืองกระเพาะอาหาร แอลกอฮอล์นั้นส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารของเรา ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายท้อง และยังกระตุ้นตับอ่อนให้สร้างกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
· หลอดเลือดขยายตัว แอลกอฮอล์ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวได้
· ส่งผลด้านการพักผ่อน แอลกอฮอล์ส่งผลต่อวงจรการพักผ่อน ทำให้นอนหลับไม่สนิทรวมถึงส่งผลให้โกรทฮอร์โมน (HGH) ที่มีหน้าที่ซ่อมแซมกล้ามเนื้อและส่วนที่สึกหรอทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้หลังตื่นนอน จะรู้สึกเหนื่อยล้าจากการนอนไม่เต็มอิ่มในวันถัดมานั่นเอง
· มีอาการอักเสบ แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เนื่องจากแอลกอฮอล์มีส่วนประกอบของสารพิวรีน (Purine) เมื่อร่างกายเผาผลาญสารพิวรีนจะทำให้เปลี่ยนเป็นกรดยูริก (Uric Acid) เมื่อกรดยูริกสูงขึ้นจะส่งผลให้เกิดการอักเสบและอาการปวดเมื่อยต่าง ๆ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ นี่ก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่ผู้ดื่มแอลกอฮอล์อาจรู้สึกเจ็บตามตัวหลังจากดื่มมาทั้งคืน
· ส่งผลต่อสารสื่อประสาท แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล และไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนาน ๆ ได้
8 วิธีการแก้เมาค้าง แก้แฮงค์ ทำตามได้ง่าย ๆ
การหลีกเลี่ยงอาการเมาค้างคือ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะกับตัวเองหรือไม่ดื่มเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่หากดื่มแล้วมีอาการเมาค้างเกิดขึ้น เรามี 8 วิธีบรรเทาอาการเมาค้างที่ทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. ดื่มน้ำเยอะ ๆ การดื่มน้ำปริมาณมากทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ นอกจากนี้การปัสสาวะบ่อยครั้งก็ช่วยขับพิษของแอลกอฮอล์อีกด้วย
2. กินอาหารประเภทจำพวกแป้ง การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เพราะว่าแอลกอฮอล์ทำให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินน้อยลง (อินซูลินทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงาน) ส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง การกินอาหารประเภทแป้งจะช่วยเติมคาร์โบไฮเดรตที่ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้
3. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์สีเข้ม หลาย ๆ งานวิจัยพบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสีเข้ม ๆ เช่น ไวน์แดงหรือวิสกี้ ทำให้เกิดอาการเมาค้างได้หนักกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สีใสหรือไม่มีสี เช่น วอดก้าหรือจิน เนื่องจากแอลกอฮอล์ที่มีสีเข้มมักมีส่วนผสมอย่างอื่นเข้าไปด้วยอย่างเมธานอลที่ส่งผลให้เกิดอาการเมาค้างที่รุนแรงกว่า
4. กินยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน และยาแก้อักเสบ จะช่วยลดอาการปวดหัวและปวดตามร่างกายได้ แต่ก็ควรระวังเรื่องการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เพราะมีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร
5. วิตามินอาหารเสริม อาจช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น วิตามินบีรวม วิตามินซี แมกนีเซียม และกรดอะมิโนแอล-ซีสเทอีน (L-Cysteine) รวมถึงการกินผลไม้เพื่อเติมเต็มแร่ธาตุที่เสียไป
6. รับประทานสมุนไพร อย่างเช่น ขิง เปปเปอร์มินท์ น้ำผึ้งมะนาว สมุนไพรเหล่านี้ช่วยบรรเทาอาการท้องไส้ปั่นป่วนและบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้
7. นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีส่วนช่วยให้อาการเมาค้างหายไปเมื่อตื่นขึ้นมา
8. รับประทานซุปจืดร้อน ๆ มีส่วนช่วยป้องกันภาวะการขาดน้ำและยังรู้สึกดีสบายท้องขึ้นด้วย
อาการเมาค้างเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อยหลังผ่านการปาร์ตี้อันหนักหน่วง แต่ทางที่ดีเราควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ และที่สำคัญไม่ควรขับรถขณะมึนเมา เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น
วิธีแก้เมาค้าง (Hangover) แก้แฮงค์ สำหรับชาวออฟฟิศ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/